8 นิสัยช่วยให้เป็น 'เศรษฐีเงินล้าน'!!
พฤติกรรม และนิสัย เป็นส่วนผสมที่ทำให้คุณเป็นเศรษฐีได้
แต่ในเวลาเดียวกันพฤติกรรมและนิสัยบางอย่าง ก็บันดาล ความยากจน ให้กับคุณได้เหมือนกัน
หากคุณลองหมั่นสังเกตนิสัยของบรรดาเศรษฐีทั้งที่อยู่รอบตัวเราและที่อยู่ห่างตัวหน่อย ก็จะเห็นว่าพวกเขามีลักษณะนิสัยที่คล้ายๆ กัน อาจจะมีรายละเอียดบางอย่างที่แตกต่างกันบ้าง แต่โดยรวมจะค่อนไปในทางละม้ายคล้ายกัน
ในทางตรงกันข้ามพวกที่ไม่เคยถูกเรียกว่าเศรษฐี ก็มักจะมีนิสัยที่ถอดแบบกันมาเช่นกันทั้ง ฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ เกินตัว
ไม่ใช่นิสัยหรือพฤติกรรมทุกอย่างของคนเรา ที่จะหนุนนำให้ทุกคนขึ้นบัลลังก์ของเศรษฐีได้ เวบไซต์เอ็มเอ็มแฮบบิทส์ดอทคอม ได้นำเสนอบทความเกี่ยวกับ "8 นิสัยที่จะช่วยให้คุณเป็นเศรษฐีเงินล้าน" ลองสำรวจตัวเองดู บางทีคุณอาจจะมีนิสัยเหล่านี้ซ่อนอยู่ในตัวอยู่แล้วก็ได้
บางคนอาจจะไม่มีเลย แต่ไม่เป็นไร นิสัยเหล่านี้สร้างและบ่มเพาะกันได้ หรือบางคนอาจจะแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนิดหน่อย แล้วนำนิสัยเหล่านี้มาประยุกต์ใช้อย่างไม่ยากเย็น
ลักษณะนิสัยทั้ง 8 ข้อ จากนี้ไป เป็นเหมือนกฎขั้นพื้นฐานที่เศรษฐีเงินล้านส่วนใหญ่ทั่วโลกยึดถือและปฏิบัติ เพื่อสร้างรายได้ให้กับตัวเอง ซึ่งคนไทยทั่วไปสามารถนำไปใช้เป็นแบบอย่าง ช่วยให้ตัวเองเป็นเศรษฐีเงินล้านได้ ด้วยหนึ่งสมองและสองมือสองขาของเรานี่เอง
1.หาเงินไว้ลงทุน..ไม่ใช่เพื่อใช้จ่าย
ใครก็ตามที่มุ่งมั่นและตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากิน ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะร่ำรวยเงินทอง เพราะคนที่หาเงินได้มาก ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเป็นเจ้าของคำว่า "เศรษฐี"
เพราะบางคนหาได้เงินมากก็ใช้จ่ายมาก บางคนทำมาหากินแทบตาย แต่ต้องเอามาใช้หนี้สินที่ติดตัวอยู่
แต่ สำหรับคนที่เป็นเศรษฐี จะมีนิสัยที่ค่อนข้างชัดเจนคือ เมื่อได้เงินมาก็จะนำไปต่อยอดการลงทุน เข้าตำราหาเงินไว้เพื่อลงทุน ไม่ใช่เพื่อใช้จ่าย
"คนส่วนใหญ่ทำงานหนัก เพื่อชำระหนี้บัตรเครดิต และบำเรอความสุขให้กับชีวิตตัวเอง แต่ กลุ่มคนมีเงินตระหนักว่า ถ้านำเงินก้อนที่มีอยู่ไปต่อยอดให้ออกดอกออกผลเพิ่มความมั่งคั่งให้กับตัว เองน่าจะดีกว่า" เวบไซต์เอ็มเอ็มแฮบบิทส์ให้ทัศนะ
"วิเชฐ ตันติวานิช" กรรมการผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ MAI เห็นด้วยกับนิสัยนี้ เพราะมีคนจำนวนมากที่มีรายได้เยอะ แต่เมื่อมีมากใช้มากก็ไม่มีทางที่จะเป็นเศรษฐีได้ แต่คนที่เป็นเศรษฐีก็มักจะมีนิสัยที่ต่างออกไป เมื่อมีรายได้เข้ามา แทนที่จะโหมใช้จ่าย พวกเขาจะนำเงินไปต่อยอดลงทุนเพื่อให้เงินออกดอกออกผล
2.มีแผนและทำตามแผน
เศรษฐีเงินล้านที่รวยได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง ไม่ได้ร่ำรวยเพราะความบังเอิญ ส่วนหนึ่งนั่นเพราะพวกเขามีนิสัยที่มีแผนและลงมือปฏิบัติตามแผน ซึ่งนั่นเป็นแรงผลักดันที่ช่วยพวกเขาให้เดินสู่ความรวย
"การวางแผนและทำตามแผนนำพวกเขาสู่จุดหมาย นั่นคือการลงทุนและสั่งสมความมั่งคั่งไว้ตลอดชีวิต" เวบไซต์เอ็มเอ็มแฮบบิทส์ให้ทัศนะ
"ดารบุษป์ ปภาพจน์" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาธุรกิจและการตลาด 2 บลจ.กรุงไทย มองว่า เรื่องสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งมือใหม่หัดลงทุนมักจะละเลยไป คือการทำตามแผนที่วางไว้โดยเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลยุทธ์ “ออมเงินก่อน” หรือ Pay Yourself First โดย การหักเงินออมออกจากบัญชีเงินเดือนทันทีที่เงินเดือนออก ก่อนที่จะนำเงินไปใช้จ่ายอย่างอื่น เพราะแผนที่วางไว้อย่างสวยหรูนั้น จะไม่มีประโยชน์เลย หากไม่มีการนำมาปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
การมีวินัยในแผนลงทุนนั้นยังรวมถึง ผู้ลงทุนที่เลือกการลงทุน โดยใช้กลยุทธ์เฉลี่ยต้นทุน (Dollar Cost Averaging) ด้วย การลงทุนเป็นประจำด้วยจำนวนเงินที่เท่ากัน ผู้ลงทุนควรมีวินัย ไม่หวั่นไหวไปกับการขึ้นลงของภาวะตลาด โดยอาจใช้ร่วมกับแผนการลงทุนอัตโนมัติที่บริษัทจัดการต่างๆ มีไว้บริการ ซึ่งช่วยประหยัดทั้งเวลา และลดความวุ่นวายใจไปได้มากทีเดียว
วิเชฐเห็นด้วยกับข้อนี้ ทุกคนคิดและวางแผนการเงินการลงทุนได้ว่าจะทำโน่นนี่นั่น แต่ไม่ใช่ทุกคนที่วางแผนแล้วจะปฏิบัติหรือลงมือทำตามแผน ฉะนั้น ใครก็ตามที่วางแผนทางการเงินให้ตัวเอง แล้วเดินตามแผนก็มักจะมีแววที่จะเป็นเศรษฐี
3.ทำงานหาเงินให้มากขึ้น
ความ หมายข้อนี้ดูเหมือนชัดเจน เพราะกลุ่มคนมั่งคั่งมักจะพากันแสวงหาหนทาง ที่จะสร้างหรือหารายได้ให้ไหลมาเทมาอย่างต่อเนื่องอย่างไม่มีวันหยุด ด้วยการเพิ่มจำนวนเงิน ให้ทำงานออกดอกออกผลให้พวกเขาได้มากขึ้น
นี่คือนิสัยประจำตัวของบรรดาเศรษฐี จะสังเกตเห็นได้ว่า ยิ่งร่ำรวยอยู่แล้ว ยิ่งไม่หยุดทำงาน ยิ่งมั่งคั่งอยู่แล้ว ยิ่งหาทางต่อยอดการลงทุนให้มั่งคั่งยิ่งขึ้น
เรื่องนี้วิเชฐตั้งข้อสังเกตว่า คนที่มีเงินทองหรือร่ำรวยในระดับหนึ่งแล้ว พวกเขามักไม่เก็บเงินเอาไว้อย่างเดียว แต่หาช่องทางเพื่อขยับขยายความรวย ซึ่งเมื่อถึงจุดนี้เขามักจะให้เงินทำงานช่วยอีกแรง เรียกว่าทำเงินได้ 2 เด้ง
4.เข้าใจฐานะการเงินของตัวเอง
กลุ่มคนที่มีความมั่งคั่งต่างตื่นตัวกับการรับรู้รายได้ในบัญชีส่วนตัว และรู้ว่าการไหลเวียนของเงินที่ไหลเข้าออกในบัญชีมีเท่าไร ตรงนี้จะเห็นได้ชัดว่าต่างจากคนที่ยังไม่ได้เป็นเศรษฐี ที่มักจะไม่ค่อยสนใจและใส่ใจในฐานะการเงินของตัวเองซักเท่าไร
บาง คนยิ่งไปกว่านั้น เพราะปล่อยให้หนี้ท่วม นอกจากไม่ได้จัดระเบียบหนี้แล้ว ที่ร้ายกว่านั้นคือแทบไม่รู้เลยว่าหนี้ของตัวเองเบ็ดเสร็จแล้วมีเท่าไร
เรื่องนี้ดารบุษป์บอกว่าก่อนที่จะทำสิ่งใดให้ประสบความสำเร็จ เรา จะต้องมีการวางแผนรู้เขา รู้เรา ซึ่งการวางแผนการลงทุนก็ไม่ต่างกัน การเข้าใจฐานะการเงินของตนเองให้ถ่องแท้ เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะมิเช่นนั้นแล้ว ก็จะเหมือนการขับรถทางไกลโดยไม่เตรียมความพร้อม ไม่ได้เช็คเครื่อง หม้อน้ำ ปริมาณน้ำมัน ไม่รู้ว่ากำลังเครื่องยนต์ของรถนั้นมีมากน้อยเพียงใด สามารถขึ้นเขา ลุยโคลนได้หรือไม่
ซึ่ง การละเลยไม่เข้าใจตนเองเช่นนี้ ก็มีแต่จะจะทำให้เราประสบปัญหาและอุปสรรคระหว่างทาง ต้องเสียเวลามากกว่าที่ควรเพื่อจะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ หรือบางทีก็อาจหมดกำลังใจไปก่อนที่จะถึงเป้าหมาย
"ก่อน จะเริ่มต้นวางแผนการเงินนั้น เราจะต้องรู้ว่ารายรับของเรานั้นมีความสม่ำเสมอแค่ไหน มีส่วนเกินกว่ารายจ่ายหรือไม่ รวมถึงมีการกันเงินเผื่อสำหรับค่าใช้จ่ายฉุกเฉินเพียงพอที่จะทำให้ไม่มีความ จำเป็นต้องพึ่งเงินที่ตั้งใจเก็บไว้เพื่อการลงทุนระยะยาว ซึ่งหากเราละเลยขั้นตอนนี้ไป ก็ยากที่จะถึงเป้าหมายได้ "
วิ เชฐเสริมว่า คนที่เป็นเศรษฐีมักจะมีนิสัยใส่ใจในเรื่องเงินทองอยู่แล้ว ทั้งรายรับรายจ่ายทำใส่เอ็กเซลชีทเอาไว้ ส่วนคนที่ยังไม่ได้เป็นเศรษฐี ควรจะทำอย่างยิ่ง นี่เป็นบันไดก้าวหนึ่งที่จะนำคุณไปเป็นเศรษฐีได้
5.กล้ารับความเสี่ยงอย่างเหมาะสม
เวบไซต์เอ็มเอ็มแฮบบิทส์ดอทคอมบอกไว้ว่า การ เป็นผู้กล้ารับความเสี่ยง เป็นสิ่งต้องทำเพื่อเพิ่มความรวยให้ตัวเอง หากไม่เข้าไปฉวยโอกาสบางครั้ง เงินที่มีอยู่จะไม่มีโอกาสงอกเงย แต่เหนืออื่นใด ต้องเป็นความเสี่ยงที่คุณรับได้ และต้องมีการวางกลยุทธ์อย่างดีเพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงที่เกิดจากภาวะตลาดตกต่ำหรือช่วงขาลง
ข้อนี้ วิเชฐมองว่า คนที่จะเป็นเศรษฐีได้ พวกเขามักรู้ว่าความเสี่ยงคืออะไร ประเมินได้ว่าความเสี่ยงมันใหญ่ขนาดไหน และตัวเขาเองสามารถรับความเสี่ยงได้แค่ไหน
"เพราะความเสี่ยงในระดับสูง ไม่ใช่ว่าเราไปยุ่งกับมันไม่ได้ คนที่เป็นเศรษฐีได้เขาจะประเมินพละกำลังของตัวเองก่อนว่า ความ เสี่ยงแค่นี้ เรารับมือไหวมั้ย เพราะถึงจะเสี่ยงสูง แต่ถ้าเรารับความเสี่ยงไหว เราจัดการกับความเสี่ยงนั้นได้ โอกาสที่จะได้ผลตอบแทนสูงก็มี "
6.มีความอดทน&สติซ่อนอยู่ในการลงทุน
สังเกต มั้ยว่าพวกเศรษฐีเงินล้านที่ร่ำรวยจากสองมือสองขากับหนึ่งสมองของตัวเอง ไม่ได้กลายเป็นเศรษฐีเพียงชั่วข้ามคืน แต่เศรษฐีเหล่านี้เข้าใจถึงพลังแห่งดอกเบี้ยทบต้น และความพยายามลงทุนอย่างต่อเนื่องไม่หยุด เพื่อให้ได้ความร่ำรวยเป็นรางวัลตอบแทน
ดาร บุษป์เปรียบเปรยให้ฟังว่ามีคนเคยเปรียบการลงทุนว่าเหมือนการไต่เทือกเขาสูง ยิ่งเป้าหมายสูงเพียงใด นอกจากต้องเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์แล้ว ต้องอาศัยจิตใจที่แข็งแกร่งจึงจะก้าวผ่านหุบเหวที่เป็นอุปสรรคไปได้ การลงทุนก็เช่นกัน ความผันผวนของตลาดหุ้นนั้นเกิดขึ้นมาทุกยุคทุกสมัย มากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป ดังนั้น เมื่อนักลงทุนได้แสวงหาเส้นทางการลงทุนที่เหมาะสมกับเป้าหมายของตนเองแล้ว ก็ควรเตรียมใจที่จะพบอุปสรรคที่จะเข้ามา
หาก อุปสรรคนั้นเป็นอุปสรรคที่ประเมินไว้ล่วงหน้าแล้ว เช่น เมื่อตัดสินใจลงทุนในหุ้นของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างจีน อินเดีย หรือรัสเซีย ซึ่งมีโอกาสรับผลตอบแทนสูง ก็ต้องเผื่อใจสำหรับโอกาสที่จะขาดทุนอย่างมากในบางช่วงเวลาด้วยเช่นกัน
วิเชฐเสริมว่าอดทนอย่างเดียวไม่พอ สำคัญที่สุดคนที่จะเป็นเศรษฐีได้ต้องมีสติอยู่ตลอดเวลา เพราะคนที่มีสติจะทำให้ตัดสินใจได้ว่าในสถานการณ์นั้นๆ เขาควรตัดสินใจอย่างไร เช่น ถ้าภาวะตลาดหุ้นไม่ดี คนที่มีสติก็อาจจะประเมินและตัดสินใจได้ว่า สถานการณ์ย่ำแย่แบบนี้เขาควรจะถอนตัวออกหรืออยู่ต่อเพื่อรอ หรือหาจังหวะเข้าลงทุน
7.ได้ทีมที่ยอดเยี่ยม
กลุ่ม คนร่ำรวยยังคงความมั่งคั่งของตัวเองไว้ได้ ด้วยผู้คนแวดล้อมซึ่งเป็นที่ปรึกษาการเงินและกฎหมาย ซึ่งล้วนมีฝีมือเป็นเลิศในแวดวงอาชีพนั้นๆ นั่นเป็นประเด็นที่เราเห็นได้ว่าบรรดาเศรษฐีเงินล้านมักไม่เดินหน้าสร้างความร่ำรวยโดยลำพัง
"ลองสังเกตดูสิ คนที่เป็นเศรษฐีไม่ใช่ว่าทุกคนเกิดมาท่ามกลางคนที่มีความรู้เรื่องการลงทุน แต่คนเหล่า นี้จะพาตัวเองเข้าไปอยู่ท่ามกลางกลุ่มคนที่มีความรู้เรื่องการลงทุน นั่นทำให้เขามีโอกาสได้เรียนรู้แง่มุมและช่องทางต่างๆ ของการลงทุน ว่าอะไรที่จะทำให้เงินทองของเขางอกเงยขึ้น หรือมีวิธีไหนบ้างที่จะทำให้เงินออกดอกออกผล" วิเชฐให้ทัศนะ
8.รับฟัง..กลั่นกรอง...นำไปใช้
นิสัย อีกอย่างหนึ่งที่จะทำให้คุณเป็นเศรษฐีเงินล้านได้ด้วยความสามารถของตัวเอง คือการแสวงหาคำแนะนำจากที่ปรึกษาเชื่อถือไว้ใจได้ เศรษฐีเหล่านี้รับฟังด้วยความมุ่งมั่นมีใจจดจ่อ จากนั้นพวกเขาก็สามารถนำไปปฏิบัติและตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง เพื่อพยายามสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเอง
ดาร บุษป์บอกว่าการวางแผนการลงทุนนั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนชีวิต ซึ่งต้องการความมีเหตุผลสูงกว่าการเลือกซื้อข้าวของเครื่องใช้ทั่วไป การฟังเขามาแต่เพียงอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอที่จะแน่ใจได้ว่าการลงทุนที่เหมาะกับคนอื่นนั้นจะเหมาะกับตัว เราด้วย เช่น เมื่อฟังเพื่อนๆ พูดถึงผลตอบแทนที่ได้รับ ก็ต้องนำมากลั่นกรองว่าการลงทุนนั้นมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด ผลตอบแทนที่ว่าสูงนั้นๆ คุ้มค่ากับความเสี่ยงหรือไม่ และตัวเรานั้นมีความพร้อมที่จะรับความเสี่ยงที่ว่านั้นแค่ไหน หรือมีวิธีที่จะลดหรือกระจายความเสี่ยงอย่างไรได้บ้าง โดยอาจต้องศึกษาจากข้อมูลการลงทุนในหนังสือชี้ชวน สอบถามผู้รู้ ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน
วิเชฐเองก็เห็นด้วยว่าคนจะเป็นเศรษฐีได้ เบื้องต้นต้องหัดรับฟังข้อมูล หาข้อมูลการลงทุนให้เยอะเข้าไว้ จากนั้นก็นำมากลั่นกรอง เพราะเมื่อได้ข้อมูลเยอะเราต้องกรอง จากนั้นค่อยนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการตัดสินใจลงทุน
"ผมว่านิสัยเหล่านี้เศรษฐีมีทุกคน บางคนข้อมูลเยอะ กลั่นกรองแล้ว แต่ไม่กล้าตัดสินใจที่จะลงทุน คุณก็เป็นได้แค่นักวิเคราะห์ แต่เป็นเศรษฐีไม่ได้" วิเชฐให้ความเห็นทิ้งท้าย
ใน 8 นิสัยเหล่านี้ ลองถามไถ่ตัวเองดูซิว่ามีกี่ข้อ ถ้ามีครบ 8 เตรียมสะกดคำว่าเศรษฐีรอไว้ได้เลย แต่ถ้าไม่มีสักข้อ ก็ยังไม่สายเกินไปค่อยๆ บ่มเพาะนิสัยเหล่านี้กันใหม่ได้
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ